อ่านฉลากโภชนาการ.....เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
เคยรู้กันไหมว่าอาหารสำเร็จรูปที่เรากินเข้าไปนั้นมีสารอาหารอะไร และให้พลังงานเท่าไร?
เราสามารถรู้ข้อมูลทางโภชนาการของอาหารที่เรากินเข้าไปได้ง่ายๆ เพียงแค่อ่าน
ฉลากโภชนาการที่อยู่ที่ของกินของเรา
ฉลากโภชนาการ คือ ข้อมูลของสารอาหารที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “กรอบข้อมูลโภชนาการ” ด้านหลังของผลิตภัณฑ์อาหาร ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ
1.หนึ่งหน่วยบริโภค คือ ปริมาณที่แนะนำให้กิน 1 ครั้ง
2.จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ คือ 1 ห่อหรือซองควรแบ่งกินกี่ครั้ง
3.คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คือ ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับเมื่อกินตามปริมาณที่แนะนำ (1 หน่วยบริโภค)
4.ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ เมื่อกิน 1 หน่วยบริโภค จะได้รับสารอาหาร กี่% ของทั้งหมดที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน
ฉลากโภชนาการ อ่านอย่างไร
-
อาหารซองนี้มี กี่หน่วยบริโภคต่อซอง และปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคคือเท่าไร เพื่อทราบว่าจริง ๆ แล้วเราควรแบ่งกินกี่ครั้ง
-
ดูตรง ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน และไม่ควรรับประทานไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว โคเลสเตอรอล และโซเดียมรวมถึงได้รับพลังงานในแต่ละวันเกิน 100% และควรรับประทานใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้ได้วันละ 100%
-
สำหรับผู้ที่มีความต้องการในการเลือกสารอาหารเป็นพิเศษ (เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ เป็นต้น) ควรอ่านฉลากเพื่อสังเกตสารอาหารที่ต้องการจำกัดเป็นพิเศษ
ฉลากโภชนาการแบบง่าย
ถ้าการอ่านกรอบข้อมูลโภชนาการแบบปกติมีความซับซ้อนมากเกินไป เราสามารถเลือกอ่านฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA: Guideline Daily Amounts) หรือเรียกเป็นชื่อง่ายๆว่า ฉลากหวาน มัน เค็ม ที่เป็นการดึงข้อมูลโภชนาการของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ มาแสดงบนด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ให้เห็นได้ชัดเจน
วิธีการอ่านฉลากหวาน มัน เค็ม
1. อ่าน จำนวนหน่วยบริโภคต่อบรรจุภัณฑ์ เพื่อดูว่าบรรจุภัณฑ์นี้ควรแบ่งรับประทานกี่ครั้ง
2. ดูว่าหากบริโภคหมดทั้งบรรจุภัณฑ์จะได้รับ พลังงาน (แคลอรี) น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในปริมาณเท่าไร
3. จำกัดการบริโภคพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ในแต่ละวันไม่ควรเกิน 100% ของปริมาณสูงสุดที่แนะนำต่อวัน
สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice Logo)
สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” บนบรรจุภัณฑ์แสดงถึงการที่ผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม หมายถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนั้นมีปริมาณน้ำตาลผ่านเกณฑ์ที่กำหนด (ไม่เกิน 6 กรัม ต้อ 100 มิลลิลิตร) ซึ่งอาจมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันที่ไม่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ”จะผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสมต่อการบริโภคและเป็นตัวเลือกเหมาะสมกับสุขภาพมากกว่าสินค้ากลุ่มเดียวกันในท้องตลาด
การแสดงสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ต้องมีฉลาก GDA หรือกรอบข้อมูลโภชนาการกำกับด้วยเสมอ เราสามารถตรวจสอบปริมาณสารอาหารที่ได้รับจริงจากการอ่านรายละเอียดในฉลากอีกครั้ง เกณฑ์ที่กำหนดอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการที่แสดงสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพต้องปฏิบัติตาม